|
การขออนุญาตเกี่ยวกับอาคาร
ข้อแนะนำการขออนุญาตดัดแปลงอาคาร ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร
อาคาร หมายความว่า
1. ตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้า สำนักงาน และสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้
2. อัฒจันทร์หรือสิ่งที่ก่อสร้างขึ้นอย่างอื่นเพื่อใช้เป็นที่ชุมชนของประชาชน
3. เขื่อน สะพาน อุโมงค์ ทางหรือท่อระบายน้ำ อู่เรือ คานเรือ ท่าน้ำ ท่าจอดเรือ รั้ว กำแพง หรือประตูที่สร้างขึ้นติดต่อหรือใกล้เคียงกับที่สาธารณะหรือที่สร้างให้บุคคลทั่วไปใช้สอย
4. ป้ายหรือสิ่งที่สร้างสำหรับติด หรือตั้งป้าย
- ที่ติด หรือตั้งไว้เหนือที่สาธารณะและมีขนาดเกินหนึ่งตารางเมตรหรือมีน้ำหนัก รวมทั้งโครงสร้างเกินสิบกิโลกรัม
- ที่ติดตั้งไว้ในระยะห่างจากที่สาธารณะ ซึ่งเมื่อวัดในทางราบแล้วระยะห่างจากสาธารณะมีน้อยกว่าความสูงของป้ายนั้น เมื่อวัดจากพื้นดินและมีขนาดหรือมีน้ำหนักเกินกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง
5. พื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ
6. สิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงส่วนต่างๆ ของอาคารด้วย
ลักษณะการก่อสร้าง, ดัดแปลง, รื้อถอนอาคารที่ต้องขออนุญาต
1. สร้างอาคารขึ้นใหม่
2. ต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเพิ่มน้ำหนักให้แก่อาคารนั้น หรือขยายพื้นที่มากขึ้น ดังนี้
2.1 เพิ่มหรือขยายพื้นที่ชั้นหนึ่งชั้นใด ตั้งแต่ 6 ตารางเมตรขึ้นไป
2.2 เปลี่ยนหรือขยายหลังคาให้คลุมเนื้อที่มากขึ้นกว่าเดิมอันเป็นการเพิ่มน้ำหนักแก่อาคารเดิม
2.3 เพิ่มหรือลดจำนวนเสาหรือคาน
2.4 เปลี่ยนเสา คาน บันได ผนัง หรือเพิ่มผนังเหนือส่วนประกอบอื่นอันเป็นการเพิ่มน้ำหนักแก่อาคารเดิม
2.5 เพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใด เกินร้อยละสิบ
3. รื้อถอนอาคารที่มีส่วนสูงเกินสิบห้าเมตรซึ่งอยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่าความสูงของอาคาร
4. อาคารที่อยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่าสองเมตร
การอนุญาตก่อสร้างอาคาร
ต้องเตรียมหลักฐานดังนี้
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขออนุญาต และเจ้าของที่ดิน
แผนผังแบบก่อสร้าง และรายการก่อสร้างอย่างละ 5 ชุด
สำเนาโฉนดที่ดินที่จะทำการก่อสร้าง
สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขออนุญาต และเจ้าของที่ดิน
เตรียมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เฉพาะเรื่อง
หนังสือยินยอมจากเจ้าของที่ดิน (กรณีผู้อนุญาตไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน)
หนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างชิดเขตที่ดิน (กรณีชิดเขตที่ดินข้างเคียง)
หนังสือยินยอมให้ใช้ฐานรากร่วมกัน(กรณีใช้ฐานรากร่วมกัน)
หนังสือรับรองการรับผิดชอบความเสียหายของทรัพย์สินข้างเคียง(กรณีก่อสร้างชิดทรัพย์สินผู้อื่น)
หนังสือรับรองประกอบวิชาชีพวิศวกรรม และสถาปัตยกรรมพร้อมสำเนาบัตรประจำตัว (กรณีอาคารที่อยู่ในข่ายควบคุมตาม พรบ. วิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ.2505 และ พ.ร.บ.วิชาชีพ สถาปัตยกรรม พ.ศ.2508)
รายการคำนวณ 1 ชุด (กรณีที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่อสร้างด้วยวัตถุถาวรและทนไฟเป็นส่วนใหญ่)
แบบระบบบำบัดน้ำเสียของอาคารพักอาศัย(แบบมาตรฐานกรมโยธาธิการ)
แบบนิรภัยลูกกรงเหล็กดัด(กรณีจัดทำประตู หน้าต่าง เหล็กดัด อาคาร ตึกแถว)
การพิจารณา
ในการตรวจพิจารณารายละเอียดแบบแปลนเทศบาล อาจจะสั่งให้ผู้ขอรับใบอนุญาต แก้ไข เปลี่ยนแปลง แผนผังบริเวณ แบบแปลนรายการประกอบและแปลน หรือรายการคำนวณที่ได้ยื่นไว้เพื่อให้ถูกต้อง และเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535
เมื่อท่านก่อสร้างอาคารเสร็จแล้ว ให้ยื่นคำร้องขอเลขหมายประจำบ้านได้ที่ กองช่างเทศบาลตำบลร่อนพิบูลย์
การเตรียมหลักฐานของเลขหมายประจำบ้าน
ใบอนุญาตปลูกสร้างอาคาร
สำเนาทะเบียนบ้าน
แบบแปลน 1 ชุด
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
รูปถ่ายอาคาร 1 รูป
เลขหมายประจำบ้านมีไว้เพื่อขอน้ำ ขอไฟฟ้า ไปรษณีย์ส่งถึงบ้าน
ค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาต
ใบอนุญาตก่อสร้าง ฉบับละ 20 บาท
ใบอนุญาตดัดแปลง ฉบับละ 10 บาท
ใบอนุญาตรื้อถอน ฉบับละ 10 บาท
ใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้ ฉบับละ 20 บาท
ใบรับรอง ฉบับละ 100 บาท
ใบแทนอนุญาตหรือใบแทนรับรอง ฉบับละ 20 บาท
ค่าธรรมเนียมการตรวจแบบแปลนก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร
อาคารสูงไม่เกินสองชั้น ตารางเมตรละ 2 บาท
อาคารสูงเกินสองชั้นแต่ไม่เกินสามชั้น ตารางเมตรละ 4 บาท
ป้าย ตารางเมตรละ 4 บาท
อาคารประเภทซึ่งต้องวัดความยาว เช่น เขื่อน ทางหรือท่อระบายน้ำ รั้ว หรือกำแพง รวมทั้งประตู รั้วหรือกำแพงให้คิดตามความยาว เมตรละ 1 บาท
ในการคิดค่าธรรมเนียมในการตรวจแบบแปลน เศษของตารางเมตรหรือเมตร ตั้งแต่กึ่งหนึ่งขึ้นไปให้ถือว่าเป็นหน่วยเต็ม ถ้าต่ำกว่ากึ่งหนึ่งให้ปัดทิ้ง ในการคิดความสูงของอาคารเป็นเมตรให้วัดจากระดับพื้นดินถึงหลังคาหรือส่วนของอาคารที่สูงที่สุด
ในกรณีที่อาคารที่มีพื้นที่ชั้นลอย ให้คิดพื้นชั้นลอยเป็นพื้นที่ของพื้นอาคารในการคิดค่าธรรมเนียมการตรวจแบบแปลนด้วย
คำเตือน
1. ผู้ใดก่อสร้างอาคาร คัดแปลง เคลื่อนย้าย โดยเจ้าของอาคารไม่ได้รับใบอนุญาต จากเทศบาล หรือผู้ใดก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากที่ได้รับอนุญาต ตลอดจนวิธีการหรือเงื่อนไข ที่เจ้าพนักงานส่วนท้องถิ่น กำหนดไว้ในใบอนุญาต จะต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
2. ผู้ใดได้รับคำสั่งจากเทศบาล และฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว นอกจากจะถูกระวางโทษตามข้อ 1 แล้วต้องระวางโทษปรับอีกวันละห้าร้อยบาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน
3. ถ้าเป็นการกระทำผิดของผู้ดำเนินการ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่า ของโทษที่บัญญัติไว้ สำหรับความผิดนั้นๆ
4 . ถ้าเป็นการกระทำ อันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชย์กรรม อุตสาหกรรมการศึกษา การสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในทางการค้า เพื่อให้เช่าให้เช่าซื้อ ขายหรือจำหน่าย โดยมีค่าตอบแทนแห่งอาคารนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้ สำหรับความผิดนั้นๆ
|
|